เมื่อเร็วๆ นี้ อาจารย์วิญญู วัฒนยนตร์กิจ และ อาจารย์กมลชนก เซ่งสวัสดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ พร้อมด้วยตัวแทนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เข้าร่วมทำกิจกรรมในโครงการ Youth In Charge เสนอไอเดียพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ด้วย BCG Model จัดโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยนักศึกษาจาก “ทีมวุ่นวายแต่เช้าเลย” คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการนำเสนอผลงานในหัวข้อ “Green ดีกว่า” คือการสร้างสรรค์แนวคิดในการนำของที่มีอยู่แล้วหรือของที่ใช้ไม่หมด นำกลับมาใช้งานได้ใหม่ โดยทีมได้เลือกนำเอา “มังคุด” มาเป็นตัวหลักในการคิดผลงาน ในชื่อ “มังคุดจากริมรั้วสู่ตัวบ้าน”
นักศึกษาจากสาขาวิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ได้เข้าร่วมโครงการ Youth In Charge รวม 52 คน โดยแบ่งออกเป็น 7 ทีม โดย “ทีมวุ่นวายแต่เช้าเลย” ประกอบด้วย นายพลอธิป รัตนกุล นายสามีร์ กาเจ นายวิสิทธิ์พล แก้วมุสิก นางสาวรานี หวังเอียด นางสาวกรกมล หะยีมายอ นางสาวปฐพร กิจวิจารณ์ ได้นำเสนอผลงานในชื่อ “มังคุดจากริมรั้วสู่ตัวบ้าน” นำเอาประโยชน์จากเปลือกมังคุดที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นได้ต่อ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในสี่ทีมตัวแทนเยาวชนจากภูมิภาค ภาคใต้ ในการพัฒนาต่อยอด แลกเปลี่ยน โดยจะเข้านำเสนอโครงการอีกครั้งในระดับประเทศต่อไปในเร็วๆ นี้
นายพลอธิป ตัวแทนจากทีมวุ่นวายแต่เช้าเลย เผยว่า ทีมได้นำเสนอการใช้เปลือกมังคุดที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลออกแบบเป็นวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง ผ่านกระบวนการแปรสภาพให้เป็นไม้อัดหรือกระดานอัดที่ทำจากเปลือกมังคุดที่มีความคงทนใช้งานได้ เหมาะสมในการนำไปใช้เป็นงานฝ้า เพดาน วัสดุกั้นห้อง งานบอร์ด เป็นต้น แต่ความคงทนแข็งแรงอาจจะไม่สามารถใช้งานเป็นโครงสร้างหลักได้ โดยตอนนี้ทีมได้ประชุมเพื่อศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของมังคุดมากขึ้น เพื่อเตรียมข้อมูลในการพัฒนาผลงาน และเตรียมความพร้อมในการนำเสนอผลงานในเวทีใหญ่อีกครั้งช่วงต้นเดือนกันยายนนี้
โครงการ Youth In Charge เป็นกิจกรรมที่เปิดช่องทางในการให้นักศึกษาได้ร่วมคิดร่วมสร้าง และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในด้านต่างๆ โดยใช้หลัก BCG Model ในการดำเนินการ คือ สร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ใน 3 มิติ ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (B- Bioeconomy) เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular Economy) คือการคำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องเป็นการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คือต้องอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (G-Green Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้มั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน














ขอบคุณภาพประกอบจาก P-seda สถานพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการนักศึกษา