You are currently viewing นักศึกษา MKT คณะพาณิชยศาสตร์ คว้า รองชนะเลิศอันดับ 2 โครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU

นักศึกษา MKT คณะพาณิชยศาสตร์ คว้า รองชนะเลิศอันดับ 2 โครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU

  • Post published:August 10, 2022

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร พิชยดนย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พร้อมด้วย นักศึกษาสาขาวิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ เข้าร่วมกิจกรรม Pitching and Exhibition ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบการกิจการยางไปสู่การเป็น Startup ด้านยางพารา ประจำปี 2565 (Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU)  โดยนักศึกษาจาก ทีม Cricket King  ส่งผลงานเข้าประกวดในประเภท Idea to Prototype การพัฒนา Idea แนวคิดธุรกิจ เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ยางพาราต้นแบบ จากผลงาน นวัตกรรมปุ๋ยอัดเม็ดละลายช้าจากมูลจิ้งหรีดเคลือบด้วยน้ำยางพารา และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้ควบคุมทีม เผยว่า การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ นับเป็นความภูมิใจของนักศึกษาที่ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด เพราะเป็นการแข่งขัน Start Up ด้านยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นักศึกษาได้ฝึกคิดและลงมือปฏิบัติจริง โดยกิจกรรมนี้เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนของนักศึกษา ให้ได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน จากรายวิชาการศึกษาค้นคว้าอิสระทางการตลาด เปิดมุมมองความคิดในการสร้างนวัตกรรมด้วยแนวคิด Market driven สร้างแนวคิดผลิตภัณฑ์จากเทรนด์ของผู้บริโภค และนำไปต่อยอดวิจัยทางการตลาด เพื่อให้ทราบคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ก่อนจะนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และส่งผลงานเข้าแข่งขันในรูปแบบ pitching

นักศึกษาสาขาวิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ได้ส่งผลงานเข้าร่วมทั้งหมด 3 ทีม และได้ผ่านเข้าสู่รอบ 18 ทีมสุดท้าย จาก 43 ทีม คือทีม Cricket King  ผลงาน นวัตกรรมปุ๋ยอัดเม็ดละลายช้าจากมูลจิ้งหรีดเคลือบด้วยน้ำยางพารา ทีม Tabby Sandy ทรายแมวขี้เลื่อยไม้ยางพารา  จากผลงาน ทรายแมวขี้เลื่อยไม้ยางพาราและ ทีม 2 good 4 U จากผลงาน หลอดเครื่องดื่ม ReUse จากยางพารา ซึ่งทั้งสามทีมได้เตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดี โดยทีม Cricket king  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง และเชื่อว่านักศึกษาทุกทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับประสบการณ์และโอกาสที่ดีอย่างเต็มเปี่ยม

นักศึกษาทั้งสามทีม ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.นริศ ท้าวจันทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและพันธกิจเพื่อสังคม คณะทรัพยากรธรรมชาติ อาจารย์ ดร.ณัฐพนธ์ อุทัยพันธุ์ รองคณบดี วิทยาลัยนานาชาติยางพารา รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ พุทธรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายระบบขับเคลื่อนวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ให้เกียรติเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี และอาจารย์ ดร.ปิยะกาญจน์ สุพรรณชนะบุรี อาจารย์ ดร.อรชนก ช่องสมบัติ ได้ให้ข้อเสนอแนะด้าน pitching

ทั้งนี้ การแข่งขันได้รับการสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมจาก รองศาสตราจารย์ ดร. เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านยางพาราในระดับประเทศ ให้เกียรติเป็นผู้ตัดสินและให้ข้อเสนอแนะแก่นักศึกษา ในการพัฒนาผลงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย โดยมี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ นายสุรชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนล่าง กล่าวรายงาน โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ณ  อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ทีม Cricket King  (รองชนะเลิศอันดับสอง ) ผลงาน  นวัตกรรมปุ๋ยอัดเม็ดละลายช้าจากมูลจิ้งหรีดเคลือบด้วยน้ำยางพารา

สมาชิกในทีม : นางสาวปภาดา ว่องประสิทธิกุล  และนายเบ็นจามิน ลาเตะ  

นางสาวปภาดา – รู้สึกเกินความคาดหวัง เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ในระดับเวทีระดับประเทศมาก่อน กิจกรรมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่อาจารย์ยื่นให้ ได้รับแรงผลักดันจากอาจารย์ ตอนแรกรู้สึกประหม่า แต่ได้รับกำลังใจที่ดีจากเพื่อนและอาจารย์ทุกท่านที่ให้คำแนะนำ นอกจากรางวัลจากเวทีแล้ว ยังได้รับรางวัลชีวิตคือประสบการณ์ ทำให้มีความกล้ามากขึ้น งานนี้สำเร็จไปได้ด้วยดีเพราะเชื่อมั่นในตัวเพื่อนร่วมทีม ที่ช่วยกันให้กำลังใจและต่อสู้ไปจนสามารถคว้ารางวัลนี้มาได้

นายเบ็นจามิน – รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมเพราะไม่เคยคิดว่าจะทำได้ แต่เพราะได้รับกำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนๆ รวมทั้งอาจารย์ ที่คอยเชื่อมั่นในตัวเรา และให้กำลังใจอยู่ตลอดจนทำให้งานประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลในครั้งนี้ รางวัลที่ได้มา เกินความคาดหวังมาก  คณะกรรมการตัดสินได้ให้คำแนะนำที่ดีมาก เป็นแรงบันดาลใจในการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป

ทีม Tabby Sandy – ผลงาน Tabby Sandy ทรายแมวขี้เลื่อยไม้ยางพารา

สมาชิกในทีม : นายพรเทพ แก้วกล้า และนางสาวอริสรา เยาดำ

พรเทพ – รู้สึกดีใจมากที่ได้ส่งผลงานเข้าร่วมในเวทีใหญ่เป็นครั้งแรก ตื่นเต้นมาก แต่เวทีนี้ก็ทำให้ได้กล้าแสดงออก อาจารย์ได้ให้คำแนะนำเรื่องการฝึกพูด การนำเสนอ รวมถึงการเตรียมพร้อมเรื่องข้อมูล โดยอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ในสาขาทุกท่านที่ให้คำแนะนำในการหาข้อมูลและการเตรียมตัวการนำเสนอผลงาน ซึ่งได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการตัดสินว่าผลงานทรายแมวจากขี้เลื่อยเป็นที่สนใจ สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ต่อไป  

อริสรา – จากการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ทางคณะกรรมการมีความคาดหวังให้ผลิตภัณฑ์มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาตั้งขาย เพราะมีคนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ต้องขอบคุณอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้ทีมได้เข้าร่วมในเวทีระดับประเทศ ถึงจะไม่ได้รางวัลแต่ก็มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสตั้งใจทำงานในครั้งนี้

ทีม 2 good 4 U  – ผลงาน หลอดเครื่องดื่ม ReUse จากยางพารา

สมาชิกในทีม : นายภาคภูมิ ช่วยเรือง และ นายกษิดิศ เหมทานนท์ 

ภาคภูมิ  – ได้รับประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ในหลายด้าน ได้ฝึกระเบียบวินัยในตัวเอง รู้จักแบ่งเวลาในเรื่องเรียน เรื่องทำงานกลุ่มมากขึ้น และเมื่อได้รับโอกาสเข้าไปนำเสนอผลงานในเวทีก็ได้เห็นแนวคิดใหม่ของพี่ๆ เพื่อนๆ ต่างสถาบัน ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานในระดับประเทศ ในระหว่างการทำงานก็มีเพื่อนที่คอยสนับสนุนและช่วยเหลือจนสามารถทำงานชิ้นนี้จนสำเร็จไปได้ ดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการ รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เจอผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ มากมาย

กษิดิศ – ดีใจที่ได้เข้าร่วมในเวทีระดับประเทศ และสามารถเข้าร่วมได้จนเข้ารอบ 18 ทีม สุดท้าย ไม่เสียใจเลยที่ไม่ได้รับรางวัลแต่ดีใจที่ได้รับประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ งานครั้งนี้ใช้เวลาเตรียมงานประมาณ 10 เดือน ในการเตรียมข้อมูลและเตรียมตัวทำผลงานวิจัยสำรวจ เพื่อนำเอาข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาต่อยอดเป็นนวัตกรรม หลอดเครื่องดื่ม ReUse จากยางพารา ซึ่งระหว่างทางเจอทั้งอุปสรรคปัญหาและสามารถฝ่าฟันปัญหาเหล่านั้นมาได้ โดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ในสาขา

#MKT #CM #PSU #PSUTrang

#คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ

#สงขลานครินทร์